Highligths:
- 3 ทักษะพื้นฐานที่ถูกจัดอันดับสูงสุด โดย McKinsey & Company ที่เหล่าคนทำงานห้ามขาด เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสสู่การเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานในอนาคต คือ Adaptability (ความสามารถในการปรับตัว), Coping with uncertainty (ความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน) และ Synthesizing messages (การสังเคราะห์ข้อความ)
- ในยุคแห่งความไม่แน่นอนนี้ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ในหมู่คนทำงาน
แน่นอนหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ น่าจะต้องรู้จักยี่ห้อโทรศัพท์มือถือที่ชื่อว่า Nokia แน่นอน
Nokia นับว่าเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือชั้นนำที่ได้รับความไว้วางใจในระดับโลก
แล้วตอนนี้ Nokia ไปไหนแล้วล่ะ?
ในงานแถลงข่าวครั้งสุดท้ายก่อน Nokia จะขายกิจการต่อให้ Microsoft
CEO ของ Nokia ก็ได้ปิดท้ายคำกล่าวของเขาไว้ว่า:
“We didn’t do anything wrong, but somehow, we lost.” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า
“พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่พวกเรากลับแพ้”
เชื่อไหม? ว่าบทเรียนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว!
ลองนึกดูสิว่าขนาดตอนนั้นยังมีการ disrupt จนปัดคู่แข่งตัวเป้งในอดีตอย่าง Nokia ตกไปได้ขนาดนี้
แล้วตอนนี้เทคโนโลยีในโลกของเรานั้นมาไกลได้ขนาดไหน?
ลองดูตัวอย่างล่าสุด อย่าง Metaverse ก็ได้ ที่เป็นความตั้งใจและวิสัยทัศน์ของมนุษย์ ที่ก็ได้พยายามคิดค้นและคิดที่จะพัฒนา เพื่อเชื่อมต่อระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นได้จริงสูงมากในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ อย่างที่เราทุกคนสามารถเห็นได้ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
หรือง่าย ๆแค่ลองมองคำว่า “Talent” ในวงการการทำงานดูก็ได้ ว่า “คนเก่ง” ในอุตสาหกรรมของคุณเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว?
แน่นอนว่าตอนนี้หลาย ๆ คุณสมบัติใน Job Description ก็ถูกเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการคัดกรองผู้สมัครที่มีทักษะเหมาะสมกับเนื้องาน รวมถึงทักษะหรือทัศนคติของพนักงานเอง ที่ก็ยังสามารถต่อยอดความรู้ที่ทั้งมีประโยชน์ที่พนักงานสามารถนำไปพัฒนาตัวเองและองค์กรได้ในอนาคต
ซึ่งทั้งหมดนี้ หนึ่งในทักษะหรือความสามารถที่สำคัญที่สามารถถอดออกมาได้ ก็คือ “ความสามารถในการปรับตัว” ที่ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในองค์กรระดับใด หากเราไม่ปรับตัว โอกาสที่จะรอดก็อาจจะยากซะหน่อย
และความสามารถนี้เอง ก็ยังถูกพูดถึงในงานรายงานงานวิจัย Workforce of the future: The competing forces shaping 2030 ของ PwC อีกด้วย
และคุณลองมองย้อนกลับไปสิ บทเรียนสำคัญที่ทำให้ Nokia ไปต่อไม่ได้นั้น
ก็คงจะเป็นอะไรไม่ได้เลยใช่ไหมล่ะ นอกจากการปรับตัวได้ช้ากว่าคู่แข่งนั่นเอง
แล้วทักษะไหนล่ะ ที่เหล่าคนทำงานทั้งหลายควรจะเร่งพัฒนาตนเอง?
3 ทักษะและทัศนคติหลักที่ขาดไม่ได้ และไม่ควรชะล่าใจ เพื่อรักษาตำแหน่งในองค์กรไว้ แถมไปสมัครที่ไหนก็มีแต้มต่อ คือ 3 DELTAS ที่ทาง McKinsey & Company ได้เผยในงานวิจัยในปี 2021 นี้ ผ่านการสำรวจจากประชากร 18,000 คน จาก 15 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกจะสามารถตระหนักถึงทักษะที่จำเป็นในตลาดแรงงานโลก
สิ่งที่ McKinsey & Company ได้เผยออกมาและน่าสนใจอย่างยิ่ง คือมิติของทักษะ (Skills)
เนื่องจากว่าในงานวิจัยนี้ McKinsey เองก็ได้เผยว่า มีทักษะที่เป็นภาพใหญ่ 4 หมวด และ 13 กลุ่มทักษะย่อย และภายใต้กลุ่มทักษะย่อยนั้น ก็ยังมีอีก 56 DELTAS (Distinct Elements of Talent) ที่เป็นทักษะพื้นฐานโดยเจาะจง (Foundation skills) ที่จะมีประโยชน์กับทุกคนในตลาดแรงงาน ซึ่งสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมอย่างละเอียดได้เลยที่ Exhibit 1 ในเว็บไซต์ของ McKinsey & Company
แล้ว DELTAS ที่ทาง McKinsey & Company ได้วิจัยและแตกออกมาคืออะไร?
เนื่องจากคำว่า Skills ที่แปลว่าทักษะ อาจจะไม่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดได้ ทาง McKinsey เองก็ได้กล่าวว่า เนื่องจากมันเป็น “การผสมผสานกันระหว่าง ทักษะ (skills) และ ทัศนคติ (attitudes)” ก็เลยเรียก สิ่งนี้ว่า DELTAS แทนที่จะเรียกมันว่า Skills โดด ๆ เลยนั่นเอง
โดยตัวอย่างของ DELTAS ก็คือ การจัดการเวลา (Time Management), การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง (Self-motivation), ความสามารถในการอ่านข้อมูลและเข้าใจข้อมูลได้ (Data Literacy), ตลอดไปจนถึง ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) เป็นต้น และตัวอย่างเหล่านี้ ทุกคนลองสามารถสังเกตได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการผสมผสานระหว่างทั้งทักษะและทัศนคติ ไม่ใช่แต่เพียงทักษะอย่างเดียว
แล้ว DELTAS ไหนบ้าง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและช่วยเพิ่มโอกาสในการถูกจ้างงานและการรักษาตำแหน่ง?
จากงานวิจัยของ McKinsey แล้วก็ได้สรุปมา ว่ามี Top 3 DELTAS ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสนั้นคือ Adaptability (ความสามารถในการปรับตัว), Coping with uncertainty (ความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน) และ Synthesizing messages (การสังเคราะห์ข้อความ)
- Adaptability – ความสามารถในการปรับตัว ที่ EY หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชี Big 4 ของโลก ได้ให้ความหมาย คือทักษะที่สามารถทำให้เราเรียนรู้ทักษะและพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ ภายใต้สภาวะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งทักษะนี้ ถูกจัดให้อยู่ในหมวด Cognitive (ความรู้ความเข้าใจ) และภายใต้ทักษะย่อยอย่าง “ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Mental flexibility)” โดย McKinsey & Company
เหตุผลที่นายจ้างส่วนใหญ่มองหาทักษะนี้ในผู้สมัครหรือพนักงานในองค์กร นั่นก็เพราะว่า สิ่งนี้นั้นจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้พนักงานคนนั้น ๆ สามารถเติบโตในแต่ละบทบาทอาชีพของตัวพนักงาน ถ้าอธิบายง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือการที่พนักงานคนนั้น ๆ สามารถตอบสนองและสามารถทำงานได้ราบรื่น ด้วยตนเองและกับทีมได้ แม้สถานการณ์จะไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง
- Coping with uncertainty – ความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอน
ความไม่แน่นอนคืออะไรล่ะ? ตามธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ เรามักจะชอบอะไรก็ตามที่เราสามารถคาดการณ์ วางแผนได้ หรืออะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน (habit)
ซึ่ง University of Michigan เอง ก็ได้ให้ความหมายที่ลึกขึ้นสำหรับคำว่า Uncertainty หรือ ‘ความไม่แน่นอน’ นั้นว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นผลจากการที่เราขาดความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้สถานการณ์นั้น ๆ ถูกมองว่ายากที่จะควบคุม ยากที่จะวางแผน หรือไม่สามารถทำนายผลที่จะตามมาในภายหลังได้ และแน่นอนว่าผู้ที่พบเจอหรือต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนเหล่านี้ ก็อาจจะไม่สบายใจหรือเป็นทุกข์ได้
สิ่งเหล่านั้นเราก็สามารถเห็นได้ชัดเจนเลยในยุคนี้ ที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตระดับโลกพร้อม ๆ กันยาวนานหลายปี นอกจากนี้ยังมีเชื้อโรคตัวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ที่มีแนวโน้มว่าทุกคนจะเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ฉะนั้นองค์กรหรือผู้ที่จะอยู่รอดได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ความสามารถในการ “รับมือกับความไม่แน่นอน”
ซึ่งสำหรับ McKinsey & Company แล้ว เขาก็ได้จัดให้ความสามารถ หรือ DELTAS นี้อยู่ในหมวด Self-leadership (ภาวะผู้นำในตนเอง) และในทักษะย่อยอย่าง การบรรลุเป้าหมาย (Goals achievement)
- Synthesizing messages – การสังเคราะห์ข้อความ
นับว่าเป็นสิ่งที่เราทำกันเกือบจะตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะสิ่งนี้คือกระบวนการที่เราจะรวบรวมนำข้อความต่าง ๆ หรือสารจากหลาย ๆ แหล่งมาประมวลผลก่อน ก่อนจะออกมาเป็นความคิดเห็น ของตัวเราเอง
พูดง่าย ๆ กระบวนการของการ ‘สังเคราะห์ข้อความ’ ก็เหมือนเวลาเราทำ ‘รายงาน’ ส่งอาจารย์ นั่นแหละ ที่เราคงจะก๊อปจากแหล่งเดียว แปะ แล้วส่ง ก็คงจะไม่ได้ ทางที่เหมาะสมที่สุดก็คือการ ‘รวบรวม’ ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งเข้ามารวมกัน มากลั่นกรอง ปรับเป็นคำใหม่ในสำนวนของตนเอง แล้วค่อยเขียนออกมา เป็นต้น
สิ่งนี้ McKinsey & Company ได้จัดให้อยู่ในหมวด Cognitive (ความรู้ความเข้าใจ) เช่นเดียวกับ Adaptability ในข้อที่ 1 เลย แต่ทักษะย่อยของการสังเคราะห์ข้อความนี้ อยู่ใต้การสื่อสาร (Communication) ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญอย่างมากในยุคนี้ เนื่องจากแหล่งข่าวรอบตัวนั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายและไวขึ้น ทำให้หลาย ๆ อย่างอาจจะไม่ได้มีการกลั่นกรองมาก่อน ฉะนั้น การที่มี DELTAS ตัวนี้ ก็จะช่วยทำให้เราสามารถรับรู้ข่าวสาร หรือสื่อต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญานมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง:
https://www.linkedin.com/pulse/nokia-ceo-ended-his-speech-saying-we-didnt-do-anything-rahul-gupta
https://stepgeek.net/nokia-smartphone-pr-news/
https://www.ey.com/en_uk/workforce/how-adaptability-skills-can-help-to-tackle-novel-problems